เขาว่ากันว่าของยิ่งเก่าแก่หรือมีคุณค่ามากเท่าไหร่มันก็จะมีราคาสูงมากเท่านั้น และถึงแม้มันจะแพงแค่ไหนแต่คนที่อยากได้จริงๆ ก็พร้อมที่จะทุ่มเงินก้อนโตเพื่อให้ได้มันมาครอบครอง ซึ่งบางครั้งมันก็จะมีการสู้ราคากันอย่างดุเดือดระหว่างคนที่ต้องการของเหล่านั้นจนทำให้เงินมันดูสูงจนน่าเหลือเชื่อ
เสื้อของ ดีเอโก้ มาราโดน่า ตำนานดาวเตะชาวอาร์เจนไตน์ที่เคยใส่ในเกม ฟุตบอลโลก 1986 รอบก่อนรองชนะเลิศ ก็เข้าข่ายนั้นเช่นกัน เพราะมันเพิ่งถูกเคาะขายไปในราคา 7.14 ล้านปอนด์ จนทำให้ถือเป็นชุดแข่งของนักกีฬาที่มีราคาแพงที่สุด หากนับเฉพาะชุดที่เคยผ่านการสวมใส่มาแล้ว โดยคนที่เคยเป็นเจ้าของชุดดังกล่าวคือ สตีฟ ฮ็อดจ์ อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติอังกฤษมที่ได้แลกเสื้อกับ มาราโดน่า ในวันนั้น โดยนอกจากมันจะเป็นชุุดที่เคยเปื้อนเหงื่อของ มาราโดน่า แล้วนั้น มันยังมีความสำคัญอีก 1 อย่าง ซึ่งหลายคนคงยังจำกันได้ว่าวันนั้น "เสือเตี้ย" ใช้มือช่วยทำประตูจนกลายเป็นตำนาน "หัตถ์พระเจ้า" ขึ้นมา
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคนที่ประมูลไปนั้นเป็นใคร แต่ยังไงซะนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการจ่ายเงินก้อนโตเพื่อซื้อของที่ถูกมองว่าเป็นของมีค่าในวงการลูกหนัง และวันนี้เราจะมานั่งไทม์แมชชีนย้อนไปดูกันว่าเคยมีของอะไรบ้างที่ถูกขายไปในราคาที่สูงพอตัว
- หนังสือกฎเล่มแรก
.jpg)
แม้ว่าฟุตบอลจะเป็นกีฬาที่ว่ากันว่าเก่าแก่และเตะกันมาอย่างยาวนาน แต่ในช่วงแรกๆ มันเล่นกันแบบไม่มีกฎเกณฑ์มากเท่าไหร่นัก ซึ่งแน่นอนว่ามันทำให้เกมหลายนัดวุ่นวายสุดๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาแห่งความยุ่งเหยิงก็เริ่มสงบลงเมื่อมีการร่างหนังสือกฎเป็นครั้งแรกออกมาเมื่อปี 1857
หนังสือเล่มดังกล่าวมาจาก เชฟฟิลด์ เอฟซี ซึ่งถือเป็นทีมฟุตบอลทีมแรกในโลกเหมือนกัน โดยตัวหนังสือเป็นกระดาษที่ดูเก่าสมกับอายุของมัน และทาง เชฟฟิลด์ เอฟซี ก็เก็บมันเอาไว้อย่างยาวนานก่อนที่จะตัดสินใจขายเมื่อปี 2011 ด้วยราคา 881,250 ปอนด์ เพื่อหาเงินเข้าสโมสร ซึ่งถ้าคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่ 1.14 ล้านปอนด์ด้วยกัน
- ถ้วย เอฟเอ คัพ เวอร์ชั่น 2
.jpg)
ด้วยความที่ เอฟเอ คัพ ถูกยกให้เป็นรายการฟุตบอลถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ทำให้หลายคนหวังที่จะได้สัมผัสกับถ้วยรางวัลนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักเตะอาชีพที่มีค่าเหนื่อยสูงลิบ หรือคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ เมื่อปี 2005 เดวิด โกลด์ เจ้าของร่วมของ เวสต์แฮม เลยตัดสินใจเอามันมาขาย
สำหรับถ้วยที่ว่านั้นถูกใช้มอบให้กับเหล่าทีมแชมป์ เอฟเอ คัพ ตั้งแต่ระหว่างปี 1896 ไปจนถึงปี 1910 โดยทีมแรกที่เคยได้สัมผัสกับถ้วยแชมป์ถ้วยนั้นคือ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ก่อนที่มันจะเคยผ่านมือทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เอฟเวอร์ตัน และ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ซึ่งท้ายที่สุด โกลด์ ก็ได้เงิน 759,062 ปอนด์สำหรับการขายมัน โดยหากเทียบกับค่าเงินในยุคนี้มันจะมีราคา 896,641 ปอนด์
- เหรียญแชมป์โลก
.jpg)
จนถึงทุกวันนี้ ฟุตบอลโลก 1966 ยังเป็นเพียงแชมป์โลกสมัยเดียวของทีมชาติอังกฤษ นั่นทำให้หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับเกมที่ทัพ "สิงโตคำราม" เอาชนะ เยอรมัน ตะวันตก ในนัดชิงชนะเลิศบนแผ่นดินเกิดของพวกเขาเองมีคุณค่าอย่างมาก เหรียญแชมป์โลกของ อลัน บอล ก็อยู่ในข่ายดังกล่าวเช่นกัน
ทั้งนี้ บอล เก็บเหรียญดังกล่าวเอาไว้เป็นเวลาหลายปี แต่ในปี 2005 เขาตัดสินใจที่จะขายมันเพราะต้องการเอาเงินไปช่วยทำให้ลูกๆ และหลานๆ มีชีวิตที่สะดวกสบาย และสุดท้ายก็มีคนนิรนามควักเงินเป็นจำนวน 164,800 ปอนด์เพื่อซื้อมันไปจากเขา โดยคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันได้ราว 262,199 ปอนด์
- ถ้วยฟุุตบอลโลก (ปลอม)
.jpg)
ในประวัติศาสตร์ของการแข่ง ฟุตบอลโลก มันมีถ้วยรางวัลทั้งหมด 2 แบบ นั่นคือถ้วยชูลส์รีเมต์ ที่ใช้งานตั้งแต่ฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1930 ไปจนถึงฟุตบอลโลก 1970 ส่วนถ้วยแบบที่ 2 คือถ้วยที่มีชื่อตรงตัวว่า ฟีฟ่า เวิลด์ คลับ โทรฟี่ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 1974 จนถึงปัจจุบัน
สำหรับถ้วยชูลส์รีเมต์นั้น ถือเป็นถ้วยที่มีเรื่องราวหลายอย่างจนสามารถเอาไปทำเป็นหนังก็ยังได้ อย่างเช่นการที่เคยต้องถถูกเก็บเอาไว้ในกล่องเก็บรองเท้าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และการที่เคยโดนขโมยไป 2 หน ประกอบด้วยในช่วงทศวรรษ 1960 กับทศวรรษ 1980
ทั้งนี้ เมื่อปี 1997 มันมีงานประมูลหนึ่งที่เอาถ้วยซึ่งมีลวดลายคล้ายกับถ้วยชูลส์รีเมต์มาให้คนได้เสนอราคาเพื่อจับจองเป็นเจ้าของ โดยสุดท้ายมันก็ถูกเคาะขายไปในราคา 254,500 ปอนด์ คิดเป็นค่าเงินปัจจุบันที่ 493,546 ปอนด์ ซึ่งคนที่ซื้อไปก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวมันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะพอมีการตรวจสอบแล้วก็พบว่าที่จริงถ้วยชูลส์รีเมต์ที่ว่ามันเป็นของปลอมที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ทำขึ้น โดย เอฟเอ แอบทำถ้วยของปลอมขึ้นมาอย่างลับๆ ภายหลังได้แชมป์ฟุตบอลโลกเมื่อปี 1966 เพราะตามกฎแล้วทีมแชมป์โลกต้องมอบมันคืนให้กับ ฟีฟ่า เมื่อถึงการแข่ง ฟุตบอลโลก ครั้งต่อไป นั่นเอง
ที่จริง เอฟเอ ก็รู้ดีว่า ฟีฟ่า ห้ามพวกเขาทำถ้วยของปลอมขึ้นมาเด็ดขาด ดังนั้นพวกเขาก็เลยเก็บของปลอมเอาไว้แบบลับสุดยอดนับตั้งแต่ที่คืนถ้วยของจริงไป โดยที่ซ่อนก็คือใต้เตียงของคนที่ทำถ้วยปลอมขึ้นมา ซึ่งหลังจากที่รู้ว่ามันเป็นของปลอมแล้วนั้น ฟีฟ่า ก็จัดแจงให้มีการเอาถ้วยปลอมที่ว่านี้ไปตั้งโชว์ที่พิพิธภัณฑ์ฟุตบอลแห่งชาติอังกฤษ ในเวลาต่อมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น